วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

มาร์โค โปโล: นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล

มาร์โค โปโล: นักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล



          บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล (Marco Polo) ซึ่งเล่าเรื่องราวที่น่าทึ่งและน่าสนใจมากมายในดินแดน ซึ่งยังไม่เคยมีชาวตะวันตกคนใดเคยไปมาก่อน เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักเดินทางทุกยุคทุกสมัยมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 700 ปี สนใจที่จะออกเดินทางไปยังดินแดนอันไกลโพ้นเพื่อค้นพบสิ่งแปลกใหม่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งค้นพบทวีปอเมริกาในศตวรรษที่ 15 ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการอ่านบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ผู้ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องว่า เป็นนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล

มาร์โค โปโล


          มาร์โค โปโล เกิดเมื่อปี 1254 ที่เมืองเวนิส บิดาชื่อ นิโคโล โปโล (Nicolo Polo) เป็นพ่อค้าที่ชอบออกไปค้าขายในต่างแดน ตอนที่มาร์โค โปโลเกิด พ่อและอา มัฟเฟโอ โปโล (Maffeo Polo) ได้ออกเดินทางไปค้าขายในแถบคาบสมุทรไครเมียร์ ทางตอนใต้ของประเทศยูเครนในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในเขตอิทธิพลของมองโกลที่กำลังแผ่อำนาจจากเอเชียกลางมายังทวีปยุโรป ในปี 1260 ได้เกิดสงครามระหว่างหลานของเจงกีสข่าน 2 คน ทำให้พ่อและอาของมาร์โค โปโล ต้องเดินทางหลบสงครามไปที่เมืองบูคารา (Bukhara) ในประเทศอุซเบกิซสถานในปัจจุบัน ณ ที่นั้น พ่อและอาของมาร์โค โปโลได้พบกับทูตของกุบไลข่าน (Kublai Khan) (ค.ศ. 1214-1294) ซึ่งได้ชักชวนให้บุคคลทั้งสอง เดินทางไปเข้าเฝ้ากุบไลข่าน ผู้ซึ่งมีความปรารถนาที่จะรู้จักกับชาวละตินและศึกษาวัฒนธรรมของชาวละติน นิโคโล โปโลและน้องชายได้ตอบตกลงและได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง (หรือที่สมัยนั้นเรียกว่า คัมบาลุก “Cambaluc”) ทั้งสองได้เข้าเฝ้ากุบไลข่านในปี ค.ศ. 1266 มองโกลได้เข้าปกครองประเทศจีนและสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นปกครองในปี ค.ศ. 1264 กุบไลข่านเป็นพระราชนัดดาของเจงกีสข่าน ในสมัยนั้นอาณาจักรของมองโกลได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล กุบไลข่านเป็นผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องราวและความเชื่อของชาวยุโรปมาก จึงได้ขอให้นิโคโล โปโล และน้องชายเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด เพื่อเข้าเฝ้าพระสันตปาปา และขอให้ส่งผู้มีความรู้ 100 คน และน้ำมันศักดิ์สิทธิ์จากวิหาร The Holy Sepulchre ในนครเยรูซาเลมกลับมาถวายพระองค์
          นิโคโล โปโล และน้องชายได้เดินทางกลับถึงบ้านเกิดทีเมืองเวนิสในปี ค.ศ. 1269 มาร์โค โปโลในขณะนั้นมีอายุได้ 15 ปี ได้มีโอกาสพบบิดาเป็นครั้งแรก มารดาของมาร์โค โปโลได้เสียชีวิตไปก่อนที่บิดาของมาร์โค โปโลจะเดินทางกลับถึงบ้านเพียงเล็กน้อย ในปี ค.ศ. 1271 มาร์โค โปโล ซึ่งในขณะนั้นอายุได้ 17 ปี ได้ขอเดินทางติดตามบิดาและอากลับไปประเทศจีน พร้อมกับพระราชสาส์นจากพระสันตปาปาเกร็กกอรี่ ที่ 10 (Pope Gregory X) น้ำมันศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยพระ 2 รูป (ซึ่งได้หนีกลับไปหลังจากที่ได้ออกเดินทางไปได้เพียงเล็กน้อย)



          ครอบครัวโปโลทั้ง 3 คนออกเดินทางจากนครเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1272 และใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 3 ปีครึ่ง จึงเดินทางถึงเมืองชางตู  (Shang-tu) ที่ประทับในฤดูร้อนของ กุบไลข่าน การเดินทางทางบกไปยังประเทศจีนในครั้งนี้ ครอบครัวโปโลได้เดินทางผ่านดินแดนต่างๆ มากมาย ได้แก่ อนาโตเลีย (เอเชียไมเนอร์) คอเคซัส ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง ก่อนที่จะข้ามที่ราบสูงพาเมียร์ (Pamir) ซึ่งมีความสูงกว่า 5,000 เมตร เป็นเสมือนหลังคาโลก มาร์โค โปโล ได้เล่าไว้ในบันทึกว่า ระหว่างที่เดินทางอยู่บนที่ราบสูงพาเมียร์ การจุดไฟหุงหาอาหารทำได้ยากมาก เนื่องจากจุดไฟไม่ค่อยติด บนท้องฟ้าก็ไม่ค่อยมีนกบินให้เห็น หลังจากที่สามารถปีนข้ามที่ราบสูงพาเมียร์ได้สำเร็จ ครอบครัวโปโลได้เดินทางข้ามทะเลทรายโกบี ซึ่งเป็นที่กล่าวขานถึงความน่ากลัวของภูตผีปีศาจ และความโหดร้ายของสภาพดินฟ้าอากาศ ภายหลังที่สามารถข้ามทะเลทรายโกบี ด่านสำคัญทางธรรมชาติด่านสุดท้ายได้สำเร็จ ครอบครัวโปโลก็สามารถเดินทางเข้าสู่เขตประเทศจีน (ตอนเหนือ) ซึ่งมาร์โค โปโล เรียกว่า คาเธย์ (Cathay) รวมระยะทางข้ามทวีปกว่า 5,600 ไมล์ 



          ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1275 ครอบครัวโปโลเดินทางถึงเมืองชางตู (ประมาณ 180 ไมล์จากกรุงปักกิ่ง) ที่ประทับฤดูร้อนของกุบไลข่าน และได้เข้าเฝ้ากุบไลข่านที่นั่น กุบไลข่านทรงให้ความเอ็นดู มาร์โค โปโล ซึ่งในขณะนั้นมีอายุได้ 21 ปี เป็นพิเศษ ทำให้มาร์โค โปโลได้มีโอกาสเข้าทำงานรับใช้กุบไลข่าน ในช่วงที่มองโกลปกครองประเทศจีน มองโกลให้ความไว้วางใจแก่ชาวต่างชาติมากกว่าคนจีน ภายหลังที่อยู่ประเทศจีนนานถึง 17 ปี ครอบครัวโปโลเริ่มเกิดความวิตกกังวลถึงอนาคตของพวกตน หากมีอะไรเกิดขึ้นกับกุบไลข่าน ซึ่งทรงชราภาพมากขึ้น (อายุใกล้ 80 พรรษา) ครอบครัวโปโลจึงได้เข้าไปกราบทูลกุบไลข่าน ขออนุญาตเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ในตอนแรกกุบไลข่านไม่ทรงอนุญาต อย่างไรก็ดี ในปี ค.ศ. 1292 พระชายาของอาร์กุน (Arghun ) ข่านแห่งเปอร์เซีย ซึ่งเป็นเจ้าหญิงมองโกลสิ้นพระชนม์ อาร์กุนข่านจึงได้ส่งทูตมาขอให้กุบไลข่านส่งเจ้าหญิงมองโกลไปเป็นพระชายาองค์ใหม่ ครอบครัวโปโลจึงได้ขันอาสาพาเจ้าหญิงโคคาชิน (Kokachin) พระชนมายุ 17 พรรษาไปถวายให้แก่ข่านแห่งเปอร์เซีย กุบไลข่านจึงจำใจต้องอนุญาตให้ครอบครัวโปโลเดินทางนำเจ้าหญิงโคคาชินไปส่งให้ข่านแห่งเปอร์เซีย

          การเดินทางในครั้งนี้ได้ใช้เส้นทางเรือ โดยใช้เรือกำปั่นขนาดใหญ่ 14 ลำ บรรทุกผู้โดยสาร 600 คนเดินทางผ่านเกาะญี่ปุ่น อาณาจักรจามปา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน เกาะสุมาตรา เกาะนิโคบาร์ในมหาสมุทรอินเดีย เกาะลังกา เข้าสู่อ่าวเปอร์เซีย การเดินทางใช้เวลานานถึง 2 ปี ผู้โดยสารกว่า 600 คนเหลือชีวิตรอดถึงจุดหมายปลายทางได้เพียง 18 คน เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บ พายุ และการปล้นของโจรสลัด คณะผู้ติดตามและเจ้าหญิงโคคาชินได้เดินทางถึงเปอร์เซียในปี ค.ศ. 1294 เมื่อเดินทางถึงจึงทราบภายหลังว่า อาร์กุนข่านได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เจ้าหญิงโคคาชินจึงได้เสกสมรสกับโอรสของอาร์กุนข่านแทน เป็นที่น่าเสียดายว่า เจ้าหญิงโคคาชินทรงใช้ชีวิตอยู่ที่เปอร์เซียได้เพียง 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ ในระหว่างที่ครอบครัวโปโลพำนักอยู่ที่เปอร์เซียได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของกุบไลข่าน ภายหลังที่กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1294 อาณาจักรของมองโกลก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1368 มองโกลได้ถูกขับออกจากประเทศจีน 
ครอบครัวโปโลได้เดินทางจากเปอร์เซียทางบกสู่อนาโตเลีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงปลายสมัยไบแซนไทน์ ชาวมุสลิมเติร์กจากเอเชียกลางเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่อนาโตเลีย แต่ยังมิใช่ชนกลุ่มใหญ่ ตลอดการเดินทางในดินแดนภายใต้อิทธิพลของมองโกล ครอบครัวโปโล ซึ่งได้รับพระราชทานแผ่นป้ายทองคำจากกุบไลข่าน สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย สามารถขอรับเสบียงอาหารและพาหนะจากผู้ปกครองในดินแดนต่างๆภายใต้อิทธิพลของมองโกลได้ แม้ว่ากุบไลข่านจะได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ครอบครัวโปโลทั้ง 3 คนก็ยังสามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย โดยอาศัยแผ่นป้ายทองดังกล่าว เมื่อเดินทางพ้นเขตอิทธิพลของมองโกลเข้าสู่เขตของชาวคริสเตียน ครอบครัวโปโลต้องประสบกับเคราะห์กรรมครั้งใหญ่ คือ ถูกปล้นเงินที่สะสมได้มาจากการไปใช้ชีวิตที่ประเทศจีนนานถึง 17 ปี
          ภายหลังการเดินทางรอนแรมทั้งทางบกและทางทะเลเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ครอบครัวโปโลก็เดินทางถึงบ้านเกิดที่เมืองเวนิส ในปี  ค.ศ. 1295 มาร์โค โปโล ในขณะนั้นอายุได้ 41 ปี       รวมระยะเวลาที่จากบ้านเกิดไปถึง 24 ปี ภายกลับถึงเมืองเวนิสได้ไม่นาน มาร์โค โปโล ถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมในสงครามระหว่างเมืองเวนิสและเมืองเจนัว ในปี ค.ศ. 1298 มาร์โค โปโลถูกจับเป็นเชลยศึกในคุกของเมืองเจนัวเป็นเวลาประมาณ 1 ปี ณ ที่นี้เอง มาร์โค โปโลได้พบกับนักเขียนชาวเมืองปิซา ชื่อ Rustichello ซึ่งได้ติดคุกอยู่ก่อนหน้าแล้ว มาร์โค โปโลได้เล่าเรื่องราวการเดินทาง และการใช้ชีวิตในประเทศจีนของตนให้นักเขียนผู้นี้ฟัง และได้บันทึกเป็นหนังสือชื่อ อรรถาธิบายเกี่ยวกับโลก”  (The Description of the World) หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า การเดินทางของมาร์โค โปโล”  (The Travel of Marco Polo) หนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดในยุโรป ตั้งแต่สมัยที่มาร์โค โปโลยังมีชีวิตอยู่ และได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ แทบทุกภาษาในยุโรป

          เรื่องราวที่มาร์โค โปโลเล่าในหนังสือดังกล่าวค่อนข้างจะเหลือเชื่อ สำหรับคนในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยิ่งใหญ่และมั่งคั่งของราชสำนักของกุบไลข่าน ความเจริญก้าวหน้าของประเทศจีนในสมัยนั้น เช่น การพิมพ์ การใช้ธนบัตรและตั๋วเงิน รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับพืช สัตว์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชนชาติต่างๆในดินแดน ซึ่งชาวยุโรปในสมัยนั้นยังไม่เคยได้มีโอกาสไปมาก่อน มาร์โค โปโลถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1324 สิริรวมอายุได้ 70 ปี ก่อนที่มาร์โค โปโลจะสิ้นลม ญาติสนิทมิตรสหายของมาร์โค โปโล ได้พยายามเกลี้ยกล่อมให้มาร์โค โปโล สารภาพความจริงว่า เรื่องราวที่มาร์โค โปโลเล่าไว้ในหนังสือของตนเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเอง มาร์โค โปโลได้ตอบกลับไปว่า ตนเล่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสิ่งที่ตนเองได้ไปเห็นมา เนื่องจากเกรงว่า คนจะไม่เชื่อในสิ่งที่ตนเล่า ในพินัยกรรม มาร์โค โปโลได้ยกลิขสิทธิ์บันทึกการเดินทางของตนให้กับบุตรสาว 3 คน และได้ปล่อยทาสชาวมองโกล ซึ่งติดตามรับใช้มาร์โค โปโล มาจากประเทศจีน ให้เป็นอิสระ

          ตลอดระยะเวลากว่า 700 ปี บันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโลยังคงได้รับความสนใจจากนักเดินทางทุกยุคทุกสมัย รวมถึง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ชาวเมืองเจนัว ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่หลงใหลเรื่องราวในบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มาร์โค โปโลได้กล่าวถึงเกาะญี่ปุ่น และความมั่งคั่งของจักรพรรดิของญี่ปุ่น ซึ่งมีพระราชวังที่มีหลังคาทำด้วยทองคำ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเชื่อว่า การเดินทางไปยังเกาะญี่ปุ่นสามารถทำได้โดยการข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะใช้เวลาสั้นกว่าประมาณไม่เกิน 3 สัปดาห์

          ในปี ค.ศ. 1492 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้พระเจ้าเฟอร์ดินาน และพระราชินีอิสเบลร่าแห่งสเปน สนับสนุนการเดินทางสำรวจของตน ตลอดการเดินทางคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้นำหนังสือบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล ติดตัวไปด้วยตลอดเวลา และได้นำพระราชสาส์นจากพระเจ้าเฟอร์ดินานถึงทายาทของกุบไลข่านไปด้วย แม้ว่าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะไม่ประสบความสำเร็จในการเดินทางไปเกาะญี่ปุ่นดังที่ตั้งใจไว้ แต่ก็ประสบความสำเร็จในการค้นพบโลกใหม่ คือ ทวีปอเมริกา โดยมิได้ตั้งใจ การค้นพบดังกล่าวถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากมายทั้งในยุโรปและอเมริกา


แผนที่เส้นทางการเดินทางของมาร์โค โปโล




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น